COLUMNIST

Competitive Bidding กับพลังงานทดแทนไทย
POSTED ON -


 

กว่าหนึ่งปีเห็นจะได้ ที่พลังงานทดแทนในประเทศไทยขาดความชัดเจนเหมือนครึ้มฟ้า ครึ้มฝน ทั้งด้านกฎระเบียบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ รวมทั้งหน่วยงานที่ให้การส่งเสริมก็ไม่มีคำตอบ ทั้งๆ ที่นโยบายรัฐบาล คสช. มีเป้าหมายชัดเจนว่า ส่งเสริมพลังงานทดแทน ทั้งนี้ อาจเนื่องจากมากหมอ มากยา จึงรักษาอาการป่วยไม่หาย และยาขนานใหม่ที่ชาวพลังงานทดแทนถูกบังคับให้กิน ก็คือ "Competitive Bidding"

 

Competitive Bidding ไม่ว่าใครจะเป็นต้นคิดเรื่องนี้ก็ตาม ท่านกำลังเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการพลังงานทดแทนไทย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นคือการสร้างความขัดแย้งให้กับผู้ประกอบการของแต่ละเชื้อเพลิงที่เคยเกื้อกูลกัน กลายเป็นคู่แข่งขันแบบต่างคนต่างเอาตัวรอด นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างกลุ่มนายหน้าที่เรียกว่าเป็นนักพัฒนาโครงการออกมาคว้า PPA เก็บไว้ แล้วมาเร่ขายเหมือนพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ ส่วนระยะยา ก็จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่สายป่านยาวไม่พอ ค่อยๆ ล้มละลายไปเหมือนโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ไม่มีเชื้อเพลิงเอง

 

ท่านผู้คิด Competitive Bidding ทราบหรือไม่ว่า ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่น้อยที่ต้องประคับประคองด้วยการขายไฟฟ้าเฉพาะช่วงพีค (Peak) ที่ขายได้ราคาสูงเท่านั้น ส่วนช่วง Off-Peak ก็เดินเครื่องต่ำๆ ประคองโรงไฟฟ้าไปเพื่อให้มีค่าใช้จ่ายส่งธนาคาร... นี่คือคำตอบสุดท้ายของพลังงานสีเขียวในประเทศไทยเช่นนั้นหรือ?

 

การจัดโซนนิ่งสายส่งไฟฟ้าพลังงานทดแทน เป็นปฏิบัติการที่ภาคเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนไม่มีโอกาสรับทราบมาก่อน โซนนิ่งจึงเป็นไปตามจินตนาการของผู้บริหารพลังงานที่มีอำนาจกำหนดพื้นที่ แท้ที่จริงแล้วภาคเอกชนจะทราบดีว่าแหล่งวัตถุดิบปัจจุบันและอนาคตจะอยู่ในภาคไหน ตำบลใด ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนช่วยกันระดมสมอง

 

ขอเปรียบเทียบอาการป่วยของพลังงานทดแทนในประเทศไทย กับ อาการป่วยด้านพลังงานทดแทนของประเทศที่ได้เข้ามาประชุม APEC Public - Private Dialogue on Addressing Impediments in Financing Renewable Energy ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 5 - 6 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทยจำนวน 3 ท่าน โดยมีบางประเด็นปัญหาพลังงานทดแทน หรืออาการป่วยจากการประชุมฯที่พอจะสรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

 

1. สายส่ง : ประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศขาดแคลนสายส่งสำหรับพลังงานทดแทน ต้องขอชมประเทศฟิลิปปินส์ที่ Outsourcing สายส่งไฟฟ้าไปให้ภาคเอกชนดำเนินการ ส่วนประเทศอื่นๆ ผู้ผลิตไฟฟ้ายังไม่ยอมปล่อยให้หน่วยงานอื่นๆ ไปดูแลรวมถึงประเทศไทย และที่เหมือนกันอีกประการหนึ่ง ก็คือ การเปรียบเปรยปัญหาของสายส่งแต่ละประเทศว่าเหมือนอยู่ในแดนสนธยา

 

2. ปัญหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) : อีกอมตะปัญหาของทุกประเทศ จนมีผู้แทนจากประเทศหนึ่งยกตัวอย่างการขอ PPA ของประเทศตนเองแบบไม่กลัวเสียหน้าว่า ต้องใช้เวลา 24 เดือน กับ 167 ลายเซ็นต์เป็นอย่างเร็วสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแต่ละฉบับ สำหรับประเทศไทย PPA นั้น 5 กระทรวง 20 หน่วยงานไม่กล้านำเสนอ ได้แต่บอกว่าระเบียบใหม่ ประเทศไทยเป็นแบบ Single-Window โดยมี พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 รองรับ

 

3. นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น ในโครงการพลังงานทดแทน : โดยเฉพาะย่างยิ่งในพลังงานทดแทนที่ต้องใช้ Feed-stock นอกจากนี้ ในบางประเทศภาครัฐไม่ได้ซื้อไฟฟ้าเอง ผู้ลงทุนต้องมีหน้าที่ขายไฟฟ้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรมหรือชุมชนเอง จึงไม่มีนักลงทุนสนใจ

 

4. ประเทศพัฒนาแล้ว มุ่งแต่จะขายเทคโนโลยีมากจนเกินไป : โดยไม่สนใจให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเจ้าของเทคโนโลยีพลังงานลมและพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งอาศัยเฉพาะพลังงานจากธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งพา Feed-stock จากเจ้าของประเทศ

 

สำหรับประเทศเวียดนามในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมในครั้งนี้ ยอมรับว่า ยังไม่ค่อยพร้อมด้านพลังงานทดแทน อีกทั้งอัตราส่งเสริม FiT (Feed-in Tariff) ที่กำหนดไว้ค่อนข้างต่ำและไม่จูงใจ แต่ก็ยังมีนักลงทุนตาเหยี่ยวจากประเทศพัฒนาแล้วสนใจมาลงทุนพลังงานลมในประเทศเวียดนามที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 45% จากการศึกษาในหลายปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยพลังงานลมประสิทธิภาพสูงที่สุดน่าจะอยู่ที่ประมาณ 25% เท่านั้น

 

 

AEDP ในอุ้งมือ กฟผ.

 

พลังงานทดแทนไทยในส่วนของการผลิตไฟฟ้าตามแผน AEDP (Alternative Energy Development Plan) จะกำหนดไว้เท่าไหร่ โดยหน่วยงานใดก็ไม่สำคัญเท่ากับผู้ถือสายส่งไฟฟ้าไว้ในมือ ดังนั้น คำถามที่ว่าเราจะผลิตพลังงานทดแทนได้ตามแผน AEDP ที่วางไว้หรือไม่ ผู้ที่จะตอบได้ดีที่สุดก็คือ ผู้ที่ถือสายส่งไฟฟ้าไว้ในมือ

 

สำหรับพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น พลังงานความร้อน ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พ.พ.) ก็มีมาตรการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างเอทานอลและไบโอดีเซลถึงแม้จะมีผู้ซื้อน้อยราย แต่ก็ยังมีการส่งออกอยู่บ้างไม่ถึงกับมีการผูกขาด

 

นาทีนี้ไม่ว่าจะเป็น Competitive Bidding หรือปัญหาสายส่งไฟฟ้าของพลังงานทดแทน ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลังงานทดแทนไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นพลังงานสีเขียว สำหรับต้นทุนด้านพลังงานทดแทนที่อาจสูงกว่าพลังงานจากฟอสซิลบ้างนั้น อาจไม่เป็นเหตุผลในการอ้างว่าต้องดูแลราคาไฟฟ้าของประชาชนไม่ให้สูงเกินไป เนื่องจากปริมาณรับซื้อไฟฟ้าได้ถูกจำกัดไว้ที่ปลายแผน AEDP อยู่แล้ว และอัตราส่งเสริมทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ก็ใช้เวลานับปีในการคำนวณความเหมาะสม จะบอกว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่รัฐประเมินไว้ในแผน AEDP ก่อนประกาศอยู่แล้วว่าจะไม่กระทบกับค่าไฟฟ้าของประชาชน

 

สำหรับปัญหาสายส่งไฟฟ้าที่ทั้ง 3 การไฟฟ้าฯ ก็อาจคิดกันไปคนละทาง ภาคเอกชนขอคิดด้วยคนว่า ผู้ใช้สายส่งไฟฟ้ากับผู้ควบคุมไม่ควรเป็นรายเดียวกัน และขอสนับสนุนแนวคิดของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่าควรมีการแยกบริหารสายส่งไฟฟ้า เพื่อไม่ให้พลังงานทดแทนไทยตกอยู่ในแดนสนธยา ต้องคอยหนีหน้า เมื่อใครถามว่า “ตอนนี้พลังงานทดแทนไทยเป็นอย่างไร?”

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics